วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

บันทึกอนุทินครั้งที่ 3

บันทึกอนุทิน
วัน/เดือน/ปี  28  มกราคม  2558
ครั้งที่  3  เวลาเรียน  8:30 น. - 12:20 น.
เวลาเข้าสอน  8:30 น.  เวลาเข้าเรียน  8:30 น.  เวลาเลิกเรียน  12:20 น.

ความรู้ที่ได้รับในวันนี้

                              วันนี้อาจารย์ได้แจกกระดาษรีไซเคิลให้นักศึกษาคนละ 1 แผ่น แล้วอาจารย์ก็บอกว่าอาจารย์จะให้นักศึกษาวาดรูปและระบายสีดอกไม้ตามที่อาจารย์เปิดให้ดู โดยต้องวาดและระบายสีให้เหมือนในรูปให้มากที่สุด ซึ่งกลุ่มเรียนของดิฉันได้วาดรูปดอกกุหลาบสองสี ซึ่งภาพดอกกุหลาบสองสีนี้มีความพิเศษตรงที่อาจารย์เป็นคนถ่ายเองกับมือจากที่บ้านของอาจารย์ พอทุกคนวาดรูปดอกกุหลาบสองสีดสร็จแล้ว อาจารย์ก็ให้ทุกคนเขียนบรรยายเกี่ยวกับภาพดอกกุหลาบสองสีที่เห็นบนจอโปรเจคเตอร์ เสร็จแล้วอาจารย์ก็ให้นักศึกษาทุกคนโชว์ผลงานที่ตนเองวาดและระบายสีให้อาจารย์และเพื่อนๆทุกคนในห้องดูและอาจารย์ก็ได้ยกตัวอย่างของเพื่อนที่เขียนคำบรรยายได้ดี คือ น.ส.จุฑามาศ  เขตนิมิตร
                              ต่อมาอาจารย์ก็ได้สอนภาคทฤษฎี ซึ่งในวันนี้ได้เรียนในเรื่อง บทบาทครูปฐมวัยในห้องเรียนรวม ซึ่งมีหัวข้อ ดังนี้ ครูไม่ควรวินิจฉัย ครูไม่ควรตั้งชื่อหรือระบุประเภทเด็ก ครูไม่ควรบอกพ่อแม่ว่าเด็กมีบางอย่างผิดปกติ ครูควรทำอะไรบ้าง การสังเกตอย่างมีระบบ การตรวจสอบ ข้อควรระวังในการปฏิบัติ (สำคัญที่สุด)  การบันทึกการสังเกต การนับอย่างง่ายๆ การบันทึกต่อเนื่อง การบันทึกไม่ต่อเนื่อง การเกิดพฤติกรรมบางอย่างมากเกินไป และการตัดสินใจ ระหว่างการสอนอาจารย์ก็มีตัวอย่างจริงจากเด็กมาให้นักศึกษาดูวิธีการสังเกตและการบันทึกแบบต่างๆ แต่อาจารย์ได้นำรูปเพื่อนบางคนที่อยู่ในกลุ่มเรียนมาใส่ เพื่อให้นักศึกษาสนใจเรียนมากยิ่งขึ้น หลังจากที่เรียนทฤษฎีเสร็จ อาจารย์ก็มีแบบทดสอบหลังเรียนให้นักศึกษาช่วยกันตอบในห้องเรียนค่ะ
                              สุดท้ายนี้อาจารย์ก็ได้แจกชีทเพลงที่ใช้สำหรับบำบัดเด็กพิเศษให้นักศึกษาคนละ 1 แผ่น ซึ่งมีทั้งหมด 5 เพลง ดังนี้
1. เพลง ฝึกกายบริหาร
2. เพลง ผลไม้
3. เพลง กินผักกัน
4. เพลง ดอกไม้
5. เพลง จ้ำจี้ดอกไม้
ผู้แต่ง  อาจารย์  ศรีนวล    รัตนสุวรรณ
เรียบเรียง  อาจารย์  ตฤณ     แจ่มถิน
ในวันนี้อาจารย์ได้สอนร้องเพลง 1 เพลง คือ เพลง ฝึกกายบริหาร เริ่มแรกอาจารย์ร้องเพลง ฝึกกายบริหาร ให้นักศึกษาฟังก่อน 2 รอบ แล้วต่อมาอาจารย์ร้องนำให้นักศึกษาร้องตาม และสุดท้ายอาจารย์ให้นักศึกษาร้องเพลง ฝึกกายบริหาร ให้อาจารย์ฟัง 2 รอบค่ะ


ดอกกุหลาบสองสีที่ใช้เป็นแบบในการวาดค่ะ


ดอกกุหลาบสองสีที่ดิฉันวาดค่ะ


ตัวอย่างการบันทึกพฤติกรรมเด็กค่ะ


ตัวอย่างการบันทึกเป็นคำๆค่ะ


แบบทดสอบหลังเรียนวันนี้ค่ะ


เพลงที่เรียนในวันนี้ค่ะ


อาจารย์สอนร้องเพลงค่ะ

สรุป
        จากวันนี้ที่ได้ทำกิจกรรมวาดรูป ระบายสีและเขียนคำบรรยายเกี่ยวกับภาพดอกกุหลาบสองสี ทำให้ดิฉันทราบว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เราจะทำอาชีพอะไร เราควรพูดสิ่งที่เป็นความจริงทุกประการ ไม่ควรเสริมเติมแต่งสิ่งที่ไม่เป็นความจริงเด็ดขาด จากการเรียนทฤษฎีทำให้ดิฉันรู้ว่า บทบาทครูปฐมวัยในห้องเรียนรวมเป็นอย่างไร ครูปฐมวัยควรทำหรือไม่ควรทำอะไรบ้าง และจากการที่ได้ร้องเพลงที่ใช้สำหรับบำบัดเด็กพิเศษ ทำให้รู้ว่าเราควรร้องเพลงที่ใช้สำหรับบำบัดเด็กพิเศษแต่ละเพลงให้ถูกจังหวะและทำนอง ซึ่งแต่ละเพลงมีจังหวะและทำนองที่แตกต่างกัน

การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
            1. สามารถนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติและพัฒนาตนเองกับการเป็นครูปฐมวัยในอนาคตได้
            2. สามารถนำความรู้ด้านการร้องเพลงไปใช้ในห้องเรียนรวมและเรียนร่วมได้
            3. สามารถนำความรู้ด้านการร้องเพลงไปใช้เผยแพร่ให้กับผู้ปกครองของเด็กพิเศษได้

การประเมินผล

ประเมินตนเอง
               วันนี้ดิฉันมาช้ากว่าอาจารย์นิดนึง แต่ก็มาทันเวลาเรียนค่ะ ดิฉันได้รับดาวเด็กดีเพิ่ม 1 ดวง เพราะ มาถึงห้องเรียนก่อนค่ะ ดิฉันแต่งกายถูกระเบียบ ช่วงที่อาจารย์ยกตัวอย่างระหว่างการสอนทฤษฎี ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นค่ะ ที่อาจารย์ยกตัวอย่างดิฉันประกอบการสอนด้วย ดิฉันไม่ชอบการวาดรูป แต่ก็พยายามวาดให้เหมือนที่สุดตามความสามารถของดิฉันค่ะ

ประเมินเพื่อน
               วันนี้เพื่อนๆตั้งใจเรียน แต่งกายเรียบร้อย แต่ละคนก็วาดรูปและระบายสีดอกกุหลาบสองสีกันอย่างเต็มที่ สำหรับดิฉันคนที่วาดรูปและระบายสีดอกกุหลาบสองสีได้เหมือนที่สุด คือ น.ส.พิชากร (ฝ้าย)

ประเมินอาจารย์
               วันนี้อาจารย์มาถึงห้องเรียนก่อนดิฉัน อาจารย์ยิ้มแย้ม แจ่มใส แต่งกายเรียบร้อย ระหว่างที่นักศึกษาวาดรูปและระบายสีดอกกุหลาบสองสี อาจารย์ก็ได้เดินดูผลงานของนักศึกษาทุกคนอย่างทั่วถึง อาจารย์ให้ความใส่ใจนักศึกษาทุกคนมากค่ะ ระหว่างการสอนอาจารย์ก็ได้ยกตัวอย่างประกอบการสอนพร้อมอธิบายรายละเอียดมากมาย ทำให้ดิฉันเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนมากยิ่งขึ้นค่ะ

















วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

บันทึกอนุทินครั้งที่ 2

บันทึกอนุทิน
วัน/เดือน/ปี  21  มกราคม  2558
ครั้งที่  2  เวลาเรียน  8:30 น. - 12:20 น.
เวลาเข้าสอน  8:30 น.  เวลาเข้าเรียน  8:30 น.  เวลาเลิกเรียน  12:20 น.

ความรู้ที่ได้รับในวันนี้

                          วันนี้อาจารย์ได้ทบทวนเพลง นม โดยให้นักศึกษาร้องเพลง นม ให้ฟังและอาจารย์ได้สอนนักศึกษาร้องเพลงที่ใช้สำหรับบำบัดเด็กพิเศษที่เหลือ มีดังนี้ 
1. เพลง อาบน้ำ
2. เพลง แปรงฟัน
3. เพลง พี่น้องกัน
4. เพลง มาโรงเรียน
ผู้แต่ง  อาจารย์  ศรีนวล    รัตนสุวรรณ
เรียบเรียง  อาจารย์  ตฤณ    แจ่มถิน
ต่อมาอาจารย์ก็ได้สอนภาคทฤษฎี โดยหัวข้อที่เรียนในวันนี้ มีดังนี้ รูปแบบการจัดการศึกษา ว่ามีรูปแบบใดบ้าง - การศึกษาปกติทั่วไป  - การศึกษาพิเศษ  - การศึกษาแบบเรียนร่วม  - การศึกษาแบบเรียนรวม
การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หมายถึง เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ถ้าได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความต้องการพิเศษของเขา                                                          ความหมายของการศึกษาแบบเรียนร่วม (Integrated  Education หรือ Mainstreaming) หมายถึง - ให้เด็กพิเศษเข้าไปในระบบการศึกษาทั่วไป      - ใช้ช่วงเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละวัน  - ครูปฐมวัยและครูการศึกษาพิเศษร่วมมือกัน                                                                                                                           การเรียนร่วมบางเวลา (Integration) หมายถึง  - จัดให้เด็กพิเศษเรียนในโรงเรียนปกติในบางเวลา  - เด็กพิเศษที่มีความพิการระดับปานกลางถึงระดับมาก จึงไม่อาจเรียนร่วมเต็มเวลาได้                                 การเรียนร่วมเต็มเวลา (Mainstreaming)  หมายถึง  - เด็กพิเศษเรียนในโรงเรียนปกติตลอดเวลาที่เด็กอยู่ในโรงเรียน                                                                                                                                           ความสำคัญของการศึกษาแบบเรียนรวมสำหรับเด็กปฐมวัย  - ปฐมวัยเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ (เป็นวัยทองของชีวิต 0-7 ปี)
                           เมื่ออาจารย์สอนทฤษฎีเสร็จแล้ว อาจารย์ก็แจกกระดาษให้นักศึกษาคนละ 1 แผ่น
เพื่อเป็นการทดสอบหลังเรียน อาจารย์มีคำถามให้นักศึกษา 3 ข้อ ในการทำแบบทดสอบหลังเรียนในครั้งนี้ อาจารย์อนุญาตให้นักศึกษาปรึกษาเพื่อนที่นั่งด้านข้างซ้าย - ขวาได้  เมื่อนักศึกษาทุกคนทำแบบทดสอบหลังเรียนเสร็จแล้วให้ส่งกระดาษคำตอบให้อาจารย์ที่โต๊ะหน้าห้องเรียน


เพลงที่ใช้สำหรับบำบัดเด็กพิเศษค่ะ


อาจารย์ฟังนักศึกษาร้องเพลงค่ะ

สรุป
        จากวันนี้ที่ได้ร้องเพลงที่ใช้สำหรับบำบัดเด็กพิเศษทำให้รู้ว่า เพลงที่ใช้สำหรับบำบัดเด็กพิเศษแต่ละเพลง มีจังหวะและทำนองที่แตกต่างกัน ดังนั้น ทุกคนจึงควรฝึกร้องเพลงที่ใช้สำหรับบำบัดเด็กพิเศษให้ถูกจังหวะและทำนอง ก่อนที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริงกับการเป็นครูปฐมวัยและจากการที่ได้เรียนภาคทฤษฎีในวันนี้ทำให้ดิฉันทราบความหมายของการศึกษาแบบเรียนร่วมและการศึกษาแบบเรียนรวม ว่ามีความหมายว่าอย่างไรและการศึกษาแบบเรียนร่วมและการศึกษาแบบเรียนรวมนั้นมีความหมายที่แตกต่างกัน  ตามความคิดของดิฉันเมื่อก่อนดิฉันคิดว่าการศึกษาแบบเรียนร่วมและการศึกษาแบบเรียนรวมนั้นมีความหมายที่เหมือนกันทุกประการ  แต่จากวันนี้ที่ได้เรียนทำให้ดิฉันได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับการศึกษาแบบเรียนร่วมและการศึกษาแบบเรียนรวม  ดิฉันจะได้จดจำความรู้ที่ถูกต้องและนำไปใช้ในอนาคตค่ะ วันนี้เป็นครั้งแรกที่มีการทดสอบหลังเรียน ซึ่งดิฉันรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะ กลัวจะทำคะแนนสอบหลังเรียนได้ไม่ดี การที่มีการทดสอบหลังเรียนหลังจากที่เรียนเสร็จ ดิฉันคิดว่าดีตรงที่พอเรียนเสร็จก็ทดสอบหลังเรียนเลย เพื่อเป็นการทดสอบการสนใจเรียนของนักศึกษาและยังเป็นการท้าทายอีกด้วยค่ะ 

การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
           1. สามารถนำความรู้ด้านการร้องเพลงไปใช้บำบัดเด็กพิเศษได้ในชีวิตจริง
           2. สามารถนำความรู้ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในการศึกษาแบบเรียนร่วมและการ                  ศึกษาแบบเรียนรวมได้ 
           3. สามารถนำความรู้ที่ได้เรียนในวันนี้ไปใช้ส่งเสริมพัฒนาการเด็กพิเศษได้และไม่ควรให้เด็กปกติ                ล้อเด็กพิเศษ เพราะ เด็กจะเสียใจ มีปมด้อยและไม่อยากมาโรงเรียน

การประเมินผล

ประเมินตนเอง
              วันนี้ดิฉันมาเรียนทันเวลา แต่งกายถูกระเบียบเรียบร้อย ตั้งใจเรียน ไม่พูดคุยกับเพื่อนขณะที่อาจารย์สอนและร่วมทำกิจกรรมร้องเพลงกับเพื่อนในห้องเรียน

ประเมินเพื่อน
              วันนี้มีเพื่อนอีกกลุมหนึ่งมาเรียนด้วย ในห้องเลยมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น เพื่อนๆทุกคนตั้งใจเรียนกันอย่างดี ช่วยกันร้องเพลง มีเพื่อนบางคนอาจารย์ชมว่าร้องเพลงเพราะ เสียงดี 

ประเมินอาจารย์
              วันนี้อาจารย์แต่งกายสุภาพเรียบร้อย ยิ้มแย้ม แจ่มใส อาจารย์ร้องเพลงเพราะมากค่ะ เสียงอาจารย์ฟังแล้วน่าฟัง ฟังอาจารย์ร้องเพลงแล้วเพลินมากเลยค่ะและอาจารย์ตั้งใจสอนมากค่ะ



วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

บันทึกอนุทินครั้งที่ 1

บันทึกอนุทิน
วัน/เดือน/ปี  14  มกราคม  2558
ครั้งที่  1  เวลาเรียน  8:30 น. - 12:20 น.
เวลาเข้าสอน  8:30 น.  เวลาเข้าเรียน  8:30 น.  เวลาเลิกเรียน  12:20 น.

ความรู้ที่ได้รับในวันนี้

                       วันนี้เป็นการเรียนครั้งที่ 2 ในรายวิชานี้ ซึ่งอาจารย์ก็ได้บอกกฎระเบียบในการเรียนในรายวิชานี้ว่ามีอะไรบ้าง คือ สายได้ไม่เกิน 15 นาที ห้ามขาดเรียนเกิน 4 ครั้ง และอาจารย์ก็ได้บอกสัดส่วนคะแนนในรายวิชานี้ว่าเก็บคะแนนอย่างละกี่คะแนน  สำหรับคนที่มาเรียนตั้งแต่ครั้งแรกอาจารย์ก็จะปั๊มดาวและรางวัลเด็กดีให้อย่างละ 1 ดวง  ต่อมาอาจารย์ก็ได้ทำการเฉลยข้อสอบพร้อมอธิบายในรายวิชา การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ ในเทอมที่แล้วให้นักศึกษาฟัง  ต่อมาอาจารย์ก็ให้นักศึกษาทำแบบทดสอบก่อนเรียน โดยมีคำถามดังต่อไปนี้
1. จากรายวิชา EAED 2209 การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ ให้นักศึกษาบอกชื่อประเภทของเด็ก       พิเศษว่ามีประเภทใดบ้าง
2. ยกตัวอย่างเด็กพิเศษมา 1 ประเภท โดยบอกถึงสาเหตุที่เกิด อาการ และวิธีการดูแลเด็กพิเศษประเภทนั้น
3. ให้นักศึกษาบอกชื่อและรหัสของรายวิชาที่นักศึกษากำลังทำข้อสอบ Pretest
4. การศึกษาแบบเรียนรวมมีชื่อภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
5. การศึกษาแบบเรียนรวมมีความหมายว่าอย่างไรและนักศึกษาคิดว่ามีความสำคัญต่อเด็กปฐมวัยอย่างไร
ต่อมาอาจารย์ได้แจกเนื้อเพลงให้นักศึกษาคนละ 1 แผ่น ซึ่งมีทั้งหมด 5 เพลง เป็นเพลงที่ใช้บำบัดสำหรับเด็กพิเศษ
1. เพลง นม 
2. เพลง แปรงฟัน
3. เพลง พี่น้องกัน
4. เพลง อาบน้ำ
5. เพลง มาโรงเรียน
ผู้แต่ง อาจารย์ ศรีนวล   รัตนสุวรรณ
เรียบเรียง อาจารย์ ตฤณ   แจ่มถิน
ซึ่งในวันนี้อาจารย์ได้สอนนักศึกษาร้อง 1 เพลง คือ เพลง นม  โดยอาจารย์จะร้องให้นักศึกษาฟังก่อน แล้วจึงให้นักศึกษาร้องตามและให้นักศึกษาร้องไปพร้อมกับอาจารย์  ในการร้องเพลงที่ใช้บำบัดสำหรับเด็กพิเศษจะแตกต่างกับการร้องเพลงให้เด็กปกติทั่วไปฟังตรงที่ต้องใช้น้ำเสียงดัง/เบา แตกต่างกันตามจังหวะและเนื้อหาของเพลง  เนื้อเพลงตรงไหนที่มีความสำคัญจะต้องใช้น้ำเสียงที่ดัง  อาจารย์ได้ให้นักศึกษาร้องเพลง นม ให้ฟังทีละ 5 คน เพื่อเป็นการทดสอบว่านักศึกษาร้องเพี้ยนหรือเปล่า ร้องถูกต้องตามจังหวะหรือไม่


ใบสะสมดาวในการมาเรียนค่ะ


เฉลยข้อสอบเทอมที่แล้วค่ะ


เพลงที่ใช้บำบัดสำหรับเด็กพิเศษค่ะ


อาจารย์สอนนักศึกษาร้องเพลงค่ะ

สรุป
       จากวันนี้ที่ได้เรียนทำให้รู้ว่าความรู้ทุกรายวิชาที่เคยได้เรียนมาตั้งแต่ตอนปี 1 จนถึงทุกวันนี้ ไม่ควรละเลยหรือทิ้งไป เพราะ แต่ละวิชามีความสำคัญที่แตกต่างกัน แต่ทุกวิชาที่เคยได้เรียนมาสามารถนำมาประยุกต์ใช้และสามารถนำมาเชื่อมโยงความรู้ไปใช้สอนเด็กปฐมวัยได้  เรื่องกฎระเบียบก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย ไม่ว่าจะเรียนในรายวิชาไหนก็ตาม ควรมาเรียนให้ตรงเวลา เพราะ จะได้รับความรู้อย่างเต็มที่และควรมีมารยาทกับอาจารย์ผู้สอนทุกคน  วันนี้อาจารย์ได้เฉลยข้อสอบของเทอมที่แล้ว ทำให้นักศึกษาได้รู้ว่าตนเองทำถูกเยอะหรือไม่และยังเป็นการกระตุ้นความรู้เดิมของนักศึกษาว่านักศึกษายังจำเนื้อหาที่เคยเรียนได้หรือไม่และวันนี้จากการที่อาจารย์สอนร้องเพลงที่ใช้บำบัดสำหรับเด็กพิเศษ ทำให้ดิฉันได้รู้ว่าการที่เราร้องเพลงเพื่อบำบัดสำหรับเด็กพิเศษนั้น มีความแตกต่างกับการร้องเพลงให้กับเด็กปกติทั่วไปอย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อก่อนดิฉันคิดว่าเพลงทุกเพลงสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น สามารถร้องให้กับเด็กปฐมวัยฟังได้ทุกประเภท ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ผิดมาโดยตลอด 

การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
          1. สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับรายวิชาอื่นในการสอนเด็กปฐมวัยได้
          2. สามารถนำเพลงไปใช้บำบัดสำหรับเด็กพิเศษได้ในชีวิตจริง เป็นการทุ่นแรงให้กับครูได้
          3. สามารถพัฒนาตนเองในด้านการร้องเพลงได้ โดยการฝึกร้องเพลงบ่อยๆ

การประเมินผล

ประเมินตนเอง
            วันนี้ดิฉันมาเรียนทันเวลา แต่งกายถูกระเบียบเรียบร้อย ตั้งใจเรียน ไม่พูดคุยกับเพื่อนขณะที่อาจารย์สอนและร่วมทำกิจกรรมฝึกร้องเพลงที่ใช้บำบัดสำหรับเด็กพิเศษอย่างเต็มที่ค่ะ

ประเมินเพื่อน
            วันนี้เพื่อนๆส่วนใหญ่มาเรียน ทุกคนตั้งใจเรียนกันอย่างดีและเพื่อนๆดูตื่นเต้นและมีความสุขกับการฝึกร้องเพลงที่ใช้บำบัดสำหรับเด็กพิเศษกันอย่างมากค่ะ

ประเมินอาจารย์
            วันนี้อาจารย์ร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส อาจารย์มีความตั้งใจในการสอนร้องเพลงอย่างเต็มที่ อาจารย์มีความใส่ใจนักศึกษาทุกคนอย่างทั่วถึง อาจารย์มีประสบการณ์ต่างๆมาเล่าให้นักศึกษาฟังมากมายและอาจารย์มีความเป็นกันเองกับนักศึกษา จึงทำให้นักศึกษาไม่เครียดจนเกินไป